วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2552

ข้อความในสูจิบัตรงานประกาศรางวัล : ราตรี

เป็นเรื่องของเด็กหญิงราตรี เด็กกำพร้าที่อยู่กับตาทัดและยายแจ่ม เธอถูกรังเกียจและล้อเลียนจากเพื่อนในโรงเรียนว่า “ดำ แห้ง หยอง” เพราะผิวพรรณ รูปราง หน้าตาที่แตกต่างกันออกไป มีเพียงทิวาเท่านั้นที่เป็นมิตรแท้ แต่ราตรีก็ค่อย ๆ สูญเสียคนที่เธอรักไปทีละคน เธอต้องเผชิญกับความเข้าใจผิด ความรังเกียจเดียดฉันท์ และมุ่งร้ายโดยลำพัง แต่ชีวิตก็ไม่เลวร้ายเกินไปเมื่อเธอผ่านอุปสรรคไปได้ด้วยการมีอุปถัมภ์และมีบ้านที่อุ่นรักในที่สุด

คำนำ : ราตรี

ยามยังเยาว์แม่มักเอ่ยถ้อยความ “จันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า ขอข้าว ขอแกง ขอแหวนทองแดง...” ในภาษาอีสานให้ฟังบ่อยจนคุ้นหู กระทั่งปักใจเชื่อว่าเจ้าลูกกลมดิกเหลืองทองส่องสว่างบนฟ้าคือสิ่งแสนวิเศษ ขออะไรก็ได้...คราเห็น สิ่งปรารถนามักผุดพรายคำขอขึ้นในใจ อาทิเช่น ขนม ของเล่น สตางค์ ได้บ้างก็ดีใจ ไม่ได้บ้างก็ไม่ได้นึกโกรธพระจันทร์
พอโตขึ้นแม้จะรู้ว่าสิ่งที่แม่พร่ำบอกนั้นเป็นเพียงการกล่อมลูกนอน หรือเพื่อความบันเทิงเริงใจของลูกก็ตาม แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ผมหลงรักดวงจันทร์น้อยลง ทุกวันนี้เวลามองจันทร์เจ้าก็ยังคงขอในสิ่งที่ปรารนาเสมอ อาทิเช่น ขอให้ได้เป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ ...แม้จะยังไม่ได้ตามหวัง ก็ยังคงรู้สึกเช่นเคย ไม่ได้นึกโกรธ และคล้ายได้ยินเสียงพระจันทร์...อดทน และพยายามกว่านี้
ราตรี เด็กหญิงตัวละครหลักในนวนิยายเรื่องนี้ ปรากฏขึ้นในค่ำคืนวันหนึ่งที่ผมแหงนหน้ามองพระจันทร์ ขณะกำลังขอพรให้พ่อกับแม่มีความสุข ตรงที่ที่กระต่ายดวงจันทร์เคยอยู่ เด็กหญิงหัวโล้นตัวดำมะเมี่ยมกำลังยิ้มแฉ่ง ทว่าในดวงตาของเธอมีความขุ่นหมองบางอย่างลึกเล้น

คำวิจารณ์ของคณะกรรมการ รศ.สรณัฐ ไตลังคะ : ตุ๊กตาไล่ฝน

ตุ๊กตาไล่ฝนเป็น นวนิยายแนวจิตวิทยาเกี่ยวกับ “ไหม” เด็กสาววัย ๑๕ ปี ที่ขาข้างซ้ายพิการด้วยโรคโปลิโอ เธออาศัยอยู่กับพ่อ แม่ และ “แก้ว” น้องสาวผู้น่ารักวัย ๔ ขวบ แม้จะขาพิการเธอก็เป็นที่พึ่งพาของครอบครัวได้ ไหมเป็นคนอ่อนไหวและมักอยู่โดดเดี่ยว ขาที่พิการทำให้เธอไม่มีเพื่อน กลายเป็น “คนนอก” ของสังคม ความรักที่เธอโหยหา เธอมอบให้แก่ “ชบา” แมวที่พลัดหลงมา ที่ต่อมาเธอพบว่าเป็นแมวของเพื่อนที่โรงเรียนที่รังเกียจเดียดฉันท์เธอ เธอค่อยๆ สูญเสียสิ่งที่เธอรักไป เริ่มต้นด้วยพ่อ ต่อมาก็ชบา แล้วสุดท้ายก็คือแม่ ซึ่งทำให้เธอและน้องต้องกลายเป็น “ลูกกำพร้า” ทั้งที่พ่อและแม่ยังมีชีวิตอยู่ไหมได้เรียนรู้ชีวิตที่โหดร้าย ทั้งจากการถูกผู้เป็นที่รักทอดทิ้ง และการ “ถูกกระทำ” โดยผู้ที่เธอไว้ใจ สิ่งที่เธอทำได้ก็คือการปฏิเสธการสูญเสียสิ่งที่รัก ด้วยการกระทำที่เหนือความคาดหมาย แต่ในตอนท้ายของเรื่อง เธอเองก็ตกเป็น “เหยื่อ”ของความโหดเหี้ยมอย่างถึงที่สุดอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์จะทำกับมนุษย์ด้วยกันได้ตุ๊กตาไล่ฝนมีวิธีการเล่าเรื่องที่แยบยล เรื่องดำเนินไปในลักษณะของการบรรยายเรื่องใน “ปัจจุบัน” สลับกับภาพย้อนหลัง ซึ่งในที่สุดเป็นการเฉลยที่มาที่ไปของปมปัญหาทั้งหมด การเล่าเรื่องจากมุมมองของเด็กสาวที่เป็นการควบคุมการรับรู้ของผู้อ่านกลับกลายเป็นกลวิธีการเล่าเรื่องที่มีชั้นเชิงที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้น่าติดตามและวางไม่ลง

คำนำ : ตุ๊กตาไล่ฝน

ครอบครัวในวันที่พ่อและแม่เกิดมีปัญหากัน ลูกผู้เฝ้ามองดูอยู่มีหรือจะไม่เจ็บปวด และหากถึง ขั้นวิวาทลงไม้ลงมือ ลูกจะวิ่งเข้าไปห้ามเสมอ ในบางครั้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกว่า เป็นเรื่อง ของผู้ใหญ่ให้ถอยห่าง ลูกก็จะถอยห่างอย่างตั้ง คำถามว่า ไม่ใช่เรื่องของลูก ด้วยหรือ จวบกระทั่งวันที่พ่อแม่เลิกร้างกัน แม้จะเหลือ ใครคนใดคนหนึ่งไว้ให้เคียงข้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสุขความและอบอุ่นของลูกสักส่วนย่อมแหว่งวิ่นไป
แล้วถ้าสมมุติว่า การเลิกร้างของพ่อแม่เหลือลูกทิ้งไว้ ตามลำพังล่ะ ลูกจะอยู่และเป็น อย่างไร---ตุ๊กตาไล่ฝนถูก เขียนขึ้นจากคำถามดังกล่าว นำเสนอผ่านชีวิตของไหม เด็กสาววัย 15 ปี ผู้พิการ
ผู้เขียนไม่ได้มีความสุขแต่อย่างไร ที่เขียนความรัน ทดให้กับไหม บอกตามตรงอย่าง สัตย์จริง ยามไหมเศร้า ความสงสารบีบเค้นหัวใจเหลือเกิน ตลอดเมื่อไหมร่ำไห้ น้ำตาจะ ไหลออกตามเกินหักห้าม บางครั้งหยุดเขียนกลาง คัน เพราะรู้สึกว่า ทำร้ายตัวละครมาก เกินไป ทั้งยังคล้าย ตัวเองถูกทำร้ายด้วย

ทว่าเรื่องนั้นต้องดำเนินต่อจนจบ---กลับมาเขียนต่อ โดยพยายามบอกตัวเองว่า นี่เป็น เพียงเรื่องแต่งเท่านั้น ---แต่ลึก ๆ รู้ดี แต่งขึ้นจากเสี้ยวชีวิตหนึ่งวัยเยาว์ของตัวเอง ---นี่ กระมังที่ทำให้เศร้า และเสียน้ำตาบ่อยครา กว่าเรื่องจะจบลงได้

คำวิจารณ์ของคณะกรรมการในสูจิบัตร : ตุ๊กตาไล่ฝน

"แม้จะเป็นงานที่มีเนื้อหาดาษดื่น แต่เป็นงานที่งดงามและมีความหมาย เห็นภาษาวรรณศิลป์ในทุกองค์ประกอบ เต็มไปด้วยเชิงชั้นและภาวะเปรียบเทียบทางวรรณศิลป์ ครอบคลุมการสื่อสารสาระเนื้อหา ทั้ง Realistic, Naturalistic, poetic, Symbolic และ Dramatic ทุกสิ่งดำเนินไปอย่างสอดคล้อง ท่ามกลางมิติปริศนา (Mystic) ที่สื่อพลังกดดันออกมาอย่างเพรียวบางทางวรรณศิลป์ และเทคนิควิธีการจัดวางภาพ การจัดภาพ มุมมองทางภาษาภาพยนตร์ นี่คืองานที่ผสมผสานในส่วนลึกแห่งจินตนาการทางวรรณกรรมที่สมบูรณ์ซึ่งสร้างไม่ได้ง่าย"
"While the storyline appears trite, it retains its beauty and meaning. The language is beautiful, communicating in realistic, naturalistic, poetic, symbolic and dramatic manner. It also offers a sense of mystic. This technique creates a very detailed image. The language and verying angles from which the author develops the story create a sense of cinema. This combination of inspiration and literary creativity is very difficult."

คำนิยมในหนังสือ : ตุ๊กตาไล่ฝน

ตุ๊กตาไล่ฝน" "เรื่องราวเล็กๆที่ซ่อนปนอยู่ในหลืบลึกของแผ่นฟ้าอันมืดมน"
สกุล บุณยทัต

"ชีวิตของมนุษย์ในทุกวันนี้เหมือนถูกจัดวางอย่างไร้ระเบียบ บ้างซุกตัวหลบซ่อนอยู่ในเงามืดของวันเวลา บ้างหลบลี้อยู่กับความผันผวนของอารมณ์เร้นลึก และบ้างก็ระเกะระกะอยู่กับจิตสำนึกที่ขาดวิ่น

เกิดอะไรขึ้นกับโลกที่มนุษย์กำลังมีชีวิตอยู่... เหตุเพราะความคิดของมนุษย์ชั่วร้าย หรือเหตุเพราะโลกที่มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่นั้นโหดร้ายเอากับจิตวิญญาณของมนุษย์กันแน่"

ผมถือเอาคำกล่าวข้างต้นเป็นข้อคำถามเชิงปริศนาสำหรับการตีความและให้ข้อสรุปแก่ชีวิตผ่านนวนิยายของ "ศักดา สาแก้ว"... "ตุ๊กตาไล่ฝน"... นวนิยายที่ชี้ให้เห็นความเป็นชีวิตของเด็กน้อยที่ต้องตกอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวในครอบครัวและโลกอันสลับซับซ้อนท่ามกลางความยากจนและการทิ้งร้างจากผู้ให้กำเนิด การเผชิญหน้ากับภาวะที่บีบกดจากปัจจัยแวดล้อมในทุกทิศทุกทางกลายเป็นความรู้สึกที่ชัดแจ้ง ซึ่งปรากฏขึ้นในความคิดด้วยความไม่แน่ใจเพียงครั้งเดียว แต่หากกลับติดแน่นอยู่กับก้นบึ้งแห่งความทุกข์ของหัวใจเป็นเวลาเนิ่นนาน

"ตุ๊กตาไล่ฝน" ถือเป็นนวนิยายเชิงสัญญะที่บอกกล่าวถึงนัยความหมายแห่งการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดด้านในให้หลุดพ้นจากการถูกกระหน่ำโบยตี โดยวิกฤติแห่งวิกฤติของชีวิต ภาพสมมติแห่งการคิดฝันทั้งหลายถูกเขียนขึ้นอย่างงดงาม กระจ่างชัดและเข้าใจท่ามกลางเรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างมืดดำและไร้ทางออก...ดูเหมือนจะไม่มีความหวังอะไรเหลืออยู่เลยจากเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น...มันดำเนินไปบนวิถีแห่งความผิดบาปต่อเนื่องกันไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

แต่อย่างไรก็ตาม... "ศักดา สาแก้ว" ก็ได้ใช้เชิงชั้นในการประพันธ์ ผูกเรื่อง และสร้างภาพให้ผู้อ่านได้มองเห็น ภาษาสื่อสารที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของการดิ้นรน การแสวงหาทางออกภายในจิตใจ ตลอดจนการพรรณนาให้เป็นบทสรุปอันเป็นปมแห่งทุกข์ในแต่ละช่วงตอนด้วยสำนวนภาษาที่สื่อถึงจินตภาพ และการเล่นแสงเงาในมิติของศิลปะการแสดงที่แบ่งแยกความจริงออกจากมายาคติด้วยความสัมพันธ์และสอดประสานเชิงสำนึกอันทำให้ภาพแต่ละภาพกลายเป็นแบบอย่างทางวรรณกรรมเชิง "สุนทรียภาพ" ที่เน้นให้เราได้เห็นว่า แม้ความทุกข์ในชีวิตจะเป็นเรื่องอันแสนจะโศกเศร้า... และภาวะแห่งการไร้ทางออกจะทำให้ชีวิตของมนุษย์มาถึงจุดตีบตีนสักเพียงใด แต่หากมุมมองของการสร้างสรรค์เป็นไปโดยเข้าใจมูลเหตุอันเป็นเบื้องลึกที่ซ่อนหลืบอยู่ในหัวใจทั้งหมด ภาพสะท้อนนั้นก็จะปรากฏออกมาได้ด้วยสีสันอันชวนให้ใคร่ครวญเสมอ

นี่คือนวนิยายเรื่องหนึ่งที่ฉีกหนีออกไปจากความจำเจดั้งเดิม ทั้งรูปแบบ เนื้อหาและวิธีของการนำเสนอ... มันอาจจะเปรียบได้กับภาพของแสงและเงาที่ตัดสลับให้เราได้เห็นกันอยู่ซ้ำๆกัน... สีขาวดำที่เหลื่อมทับถูกแปลงให้กลายเป็นสีเทารองรับความทุกข์และความสุขสอดสลับกันไปอย่างเป็นมิติ... บางขณะผมคิดว่าผมกำลังนั่งดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ส่งสัญญาณแห่งจังหวะและเวลาให้เข้ากันได้อย่างผสมผสาน เป็นสื่อที่เคลื่อนไหวอยู่ในความเร้นลึกของความรู้สึกที่พร่ามัว

ทุกครั้งที่ผมได้อ่าน "ตุ๊กตาไล่ฝน" ผมมักจะค้นพบความงามในความหมายเชิงการประพันธ์ ที่ "ศักดา สาแก้ว" ได้สร้างขึ้น ได้เห็นภาพลักษณ์ของความทุกข์ ที่ถูกสื่อสารตีความออกมาด้วยจินตภาพอันบริสุทธิ์... ผมถือว่านี่คือจุดเด่นที่สุดในนวนิยายเรื่องนี้ที่ต้องอาศัยทักษะของผู้ประพันธ์เป็น "พลังความหมายอันยิ่งใหญ่"

"ไม่มีใครอยู่รอดได้บนหนทางและสายธารแห่งจิตวิญญาณที่ซ่อนเร้น มันเป็นเรื่องราวเล็กๆที่ซ่อนปมอยู่ในหลืบลึกของแผ่นฟ้าอันมืดมนที่มนุษย์เราทุกคนต้องเรียนรู้ถึงความหมายอันเป็นจุดจบของตนเองโดยลำพังเท่านั้น"

เหตุดังกล่าวนี้ "ตุ๊กตาไล่ฝน" จึงเกิดขึ้นเพื่อขจัดปัดเป่าความทุกข์ให้ออกไปจากหัวใจ... เพื่อขจัดความเศร้าของชีวิต ไม่ให้หลงเหลือไว้แม้เพียงจินตนาการหรือคราบไคลของหยาดน้ำตา ผมปรารถนาให้ทุกท่านได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้เงียบๆ... อ่านเพื่อการมองเห็นและได้สดับตรับฟัง ปรากฏการณ์แห่งโลกและชีวิตผ่านความทุกข์เศร้าขมขื่น ไปสู่ความดีงามของจิตสำนึก ผ่านครอบครัวที่แตกดับไปสู่โลกกว้างที่ไร้ทางออก ทั้งหมดในสิ่งทั้งหมดจะค่อยๆบอกกล่าวถึงวิถีแห่งความอยู่รอดในตัวตนของคนทุกคน ให้ได้ประจักษ์ถึงสัจธรรมแห่งการดำรงอยู่และดำเนินไปทั้งในขณะนี้ และ ณ เบื้องหน้าอย่างแท้จริง เกิดอะไรขึ้นกับโลกที่มนุษย์กำลังมีชีวิตอยู่... เหตุเพราะความคิดของมนุษย์ชั่วร้าย หรือเหตุเพราะโลกที่มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่นั้นโหดร้ายเอากับจิตวิญญาณของมนุษย์กันแน่